การบริหารงานบุคคล ตอน เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารงานบุคคล
การบริหารงานบุคคล เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการพัฒนาทั้งคนและงานให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดบุคคลให้เหมาะสมกับงาน การเพิ่มพูนพนักงานให้มีคุณภาพ และการรักษาคนเก่งเอาไว้ในองค์กร ซึ่งการบริหารงานเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องใช้เทคนิคต่างๆหรือที่เรียกว่า “เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารงานบุคคล” มาเป็นตัวกำหนดและช่วยในงานบริหาร
เครื่องมือในการบริหารงานบุคคล
การบริหารงานบุคคล ต้องมีความละเอียดอ่อนคือมีทั้งหลักการและเทคนิคเข้ามาช่วยในการบริหาร หลักการบริหารที่ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารงานบุคคลแบ่งออกเป็น 3 ประการ ดังนี้
1.การใช้กฎเกณฑ์หรือหลักการ
กฎเกณฑ์หรือหลักการ ก็คือกฎข้อบังคับหรือหลักปฏิบัติเพื่อให้พนักงานภายในองค์กรได้ประพฤติปฏิบัติไปในแนวทางที่องค์กรต้องการ กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นกฎระเบียบที่วางไว้จะทำงานควบคุมด้วยตัวของมันเอง เช่น การเข้าทำงานพร้อมกันในเวลา 08.00 น การแต่งกายรูปแบบเดียวกัน หรือการรับประทานอาหารที่องค์กรจัดให้
2.การใช้เทคนิค
เทคนิคคือเครื่องมือที่ช่วยให้กฎเกณฑ์หรือหลักการที่นำไปปฏิบัติบรรลุเป้าหมายด้วยความยืดหยุ่น เป็นกันเอง ไม่สร้างความกดดันให้พนักงานหรือทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัดแต่เป็นการให้เกียรติผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยการมอบหมายงานหรือให้สิทธิพิเศษในการทำงาน เช่น ให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม หรือให้ตัดสินใจแทนในบางเรื่อง ซึ่งนอกจากทำให้ผู้พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจแล้วยังเป็นเรื่องของจิตวิทยาในการบริหารอีกด้วย
3.การใช้เทคโนโลยี
เทคโนโลยีที่ใช้ในการควบคุมคนได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องจับเวลา นาฬิกาตอกบัตรชื่อ ฐานข้อมูลหรือระบบจัดเก็บข้อมูล กล้องวงจรปิด เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีมีความสำคัญในทุกๆด้านและยังสามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ในการบริหารงานบุคคล เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารงานบุคคลทั้ง 3 ข้อ ผู้นำหรือผู้บริหารในแต่ละระดับเมื่อนำไปใช้ต้องมีความละเอียดอ่อน เพราะนอกจากเป็นเครื่องมือในการควบคุมการทำงานของคนแล้ว ยังเป็นจิตวิทยาการบริหารที่ช่วยให้องค์กรประสบผลทั้งการบริหารงานและคนไปพร้อมๆกัน
การบริหารงานบุคคล ตอน แรงจูงใจ
แรงจูงใจ หรือ Motivation คือการกระตุ้นหรือจูงใจให้เกิดพลังในการทำงาน โดยธรรมชาติของมนุษย์ที่มีการศึกษาวิจัยมาแล้ว พบว่ามนุษย์มีความต้องการพื้นฐานในการดำเนินชีวิตอยู่ 5 ขั้น ซึ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่ความต้องการทางด้านร่างกาย และกลุ่มที่สองได้แก่ความต้องการสิ่งจูงใจ ที่ประกอบไปด้วย ความต้องการสัมฤทธิผล ต้องการมีอำนาจ และต้องการเกี่ยวกับความรักและการยกย่อง
ลักษณะแรงจูงใจในการบริหารงานบุคคล
จากการศึกษาวิจัยความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ จึงได้นำแนวคิดความต้องการสิ่งจูงใจมาใช้เป็นหลักในการบริหารงานบุคคลด้วยการสร้างแรงจูงใจในลักษณะต่างๆ ดังนี้
- ขึ้นเงินเดือนต่อปีโดยผู้ได้รับจะต้องมีผลงานถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้
- มีโบนัสให้ 2 ขั้นเมื่อมีผลงานดีเด่น
- ได้รับสวัสดิการต่างๆเมื่อได้รับการบรรจุเป็นพนักงาน
- จ่ายเบี้ยเลี้ยงในการปฏิบัติงานนอกสถานที่หรือเสี่ยงภัยในแดนอันตราย
- ให้บำเหน็จบำนาญเมื่อเกษียณอายุ
- มอบหมายงานที่สำคัญให้ทำ
- ยกย่องชมเชยต่อหน้าผู้อื่นหรือในสังคม
- สนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในตำแหน่งที่สูงขึ้น
- ให้รางวัลพิเศษเมื่อปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
- ให้โอกาสในการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในการสร้างแรงจูงใจสำหรับการบริหารงานบุคคลผู้บริหารจะต้องเป็นผู้กำหนด โดยยึดหลักความคล่องตัวทางด้านการเงินและระบบของหน่ายงานหรือองค์กรนั้นๆ ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันเสมอไปหรืออาจปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์และหลักการต่างๆในการสร้างแรงจูงใจให้เหมาะสมโดยไม่มีผลกระทบในด้านต่างๆขององค์กร
![]() |
อ่านต่อ : การบริหารงานบุคคล คือ หัวใจสำคัญของการเริ่มต้นทำธุรกิจ 3/3 |